Skip to content Skip to sidebar Skip to footer

หลักการออกแบบห้องครัว ในงานสถาปัตยกรรมตามหลักฮวงจุ้ย ( Fengshui Kitchen Design)

หลักการออกแบบห้องครัว ในงานสถาปัตยกรรมตามหลักฮวงจุ้ย ( Fengshui Kitchen Design)

หลักการออกแบบห้องครัวตามหลักฮวงจุ้ย (Fang Shui Kitchen Design) คือ การออกแบบห้องครัวตามหลักฮวงจุ้ยที่ดี ให้มีความเหมาะสมสัมพันธ์กับรูปแบบการใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ นอกจากถูกต้องตามหลักสุขลักษณะ และควรออกแบบให้ถูกหลักฮวงจุ้ยด้วยก็จะดียิ่งขึ้นไปอีก ตามหลักฮวงจุ้ยห้องครัว ถือว่าเป็นห้องที่สำคัญอีกห้องหนึ่ง เป็นตำแหน่งของบ้านมีหน้าที่ทำอาหารเลี้ยงคนในบ้าน ส่งผลต่อเรื่องของเงินทอง โชคลาภของคนในครอบครัว การออกแบบครัวตามหลักฮวงจุ้ย จะพิจารณา ในตำแหน่งการวาง ของห้องครัว และการวางผังครัวโดยเฉพาะ“เตาไฟและก็อกน้ำ” เป็นหลัก

รูปแบบการวางผังครัวตราหลักฮวงจุ้ย (Fengshui Kitchen Layout Types)

สามารถแบ่งออกเป็นรูปแบบต่างๆได้ดังนี้

การจัดวางผังครัวฮวงจุ้ย แบบ I หรือ Fengshui I-Shaped Kitchen

เหมาะกับพื้นที่ขนาดเล็ก  3-5 ตร.ม. ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นห้องในอาคารชุด เช่น อพาร์เม้นท์ คอนโดมิเนียม หรือ ทาวน์เฮ้าส์ พื้นที่ครัวลักษณะนี้มักจะมีพื้นที่ทั้ง 3 โซน อยู่ในแถวเดียวกัน คล้ายรูปอักษร ตัว I โดยออกแบบเรียงลำดับพื้นที่ใช้งานจากซ้ายไปขวา เริ่มจากพื้นที่สำหรับเก็บของ ทั้งของสดและของแห้ง (Zone 1)  พื้นที่สำหรับล้าง และทำความสะอาด ก๊อกน้ำ เป็นพลังงานธาตุน้ำ (Zone2)  พื้นที่สำหรับเตรียมของ และเตาปรุงอาหาร เป็นพลังงานธาตุไฟ (Zone3) ตามลำดับ ซึ่งพื้นที่ระหว่างเตาไฟ อ่างล้างจานควรห่างกันอย่างน้อย 30 เซนติเมตร  เพื่อหลีกเลี่ยงธาตุน้ำปะทะกับธาตุไฟโดยตรง  หรือหากพื้นที่ในการวางเตาหรือ อ่างล้างมือมีจำกัด สามารถแก้ไข โดยนำธาตุไม้เข้ามาใช้ช่วยแก้ไข โดยการเลือกใช้พื้นที่ท็อปเคาน์เตอร์ที่ทำจากไม้ นอกจากนี้ผนังหลังเตาก็ควรออกแบบเป็นผนังทึบด้วย

การจัดวางผังครัวฮวงจุ้ยแบบ L หรือ Fengshui L-Shaped Kitchen

การจัดวางผังครัวแบบตัว L จะเหมาะกับพื้นที่ตั้งแต่ 6 ตร.ม. ขึ้นไป และจะต้องมีช่องเปิดอย่างน้อย 2 จุด ในทิศทางตรงกันข้ามโดยไม่ตรงกับเตาไฟ เพื่อทำให้พลังงานชี่สามารถไหลผ่านเข้าออกได้สะดวก

การจัดผังครัวในลักษณะนี้มักไม่มีรูปแบบการวางที่เจาะลึกตายตัว 100% ดังนั้นการจะจัดวางตำแหน่งใดๆ จะต้องพิจารณา เตาไฟให้ไม่ติด กับอ่างล้างจาน  การจัดวางผังครัวฮวงจุ้ยแบบตัว L ที่นิยมใช้งานอย่างแพร่หลายในระดับสากล สามารถแบ่งลักษณะ Zoning ความสัมพันธ์ที่เหมาะสมกับลักษณะการใช้งานได้ ดังนี้

  • (Zone 1)  พื้นที่สำหรับเก็บของ ทั้งของสดและของแห้ง ซึ่งมักนิยมใช้วางตู้เย็นเป็นส่วนใหญ่
  • (Zone 2)  พื้นที่สำหรับล้าง และทำความสะอาด ซึ่งจุดสำคัญของส่วนนี้คือ ก๊อกน้ำ ซึ่งเป็นพลังงานธาตุน้ำ ควรอยู่ในส่วนเคาน์เตอร์ด้านที่มีความยาวมากที่สุด และไม่ควรจะติดกับเตาไฟโดยตรง และจะต้องจัดวางในบริเวณใกล้เคียงที่จะสามารถเชื่อมต่อกับ Zone 1 และ Zone 3 ได้อย่างสะดวก เพื่อความต่อเนื่องในการใช้งาน
  • (Zone 3)  พื้นที่สำหรับเตรียมของ และปรุงอาหาร ซึ่งมีจุดสำคัญคือ เตาไฟ ซึ่งเป็นพลังงานของธาตุไฟ จะจัดวางอยู่ในบริเวณเคาน์เตอร์ด้านที่อยู่ติดกับ Zone 2 เพื่อความต่อเนื่อง และความสะดวกในการใช้งาน

การจัดวางผังครัวฮวงจุ้ยแบบ U หรือ Fengshui U-Shaped Kitchen 

เป็นการจัดวางผังครัวฮวงจุ้ยที่เหมาะกับพื้นที่ขนาด  9 ตร.ม. ขึ้นไป การจัดวางผังครัวฮวงจุ้ยในลักษณะนี้ ควรจัดวางพื้นที่สำหรับเก็บของ ทั้งของสดและของแห้ง (Zone 1) และพื้นที่สำหรับเตรียมของ และปรุงอาหาร โดยเฉพาะเตาไฟ (Zone 3) ให้อยู่ตรงข้ามกัน

โดยจัดวางพื้นที่สำหรับล้าง และทำความสะอาด โดยเฉพาะก๊อกน้ำ  (Zone 2) และพื้นที่สำหรับเตรียมของ และปรุงอาหาร (Zone 3) ให้อยู่ในฝั่งเดียวกัน โดยพื้นที่ตรงกลางจะต้องมีความกว้างตั้งแต่ 90 ซม. ขึ้นไป ซึ่งเป็นความกว้างที่สามารถเดิน หมุนตัว หรือ กลับตัวทั้งด้านหน้า และหลังในระหว่างปรุงอาหารได้อย่างสะดวก และไม่เป็นอันตราย 

เนื่องจากการจัดวางผังแบบ U หรือ U-Shaped Kitchen จะกินพื้นที่มากพอสมควร ดังนั้นควรมีช่องเปิด หรือ หน้าต่าง สำหรับการระบายถ่ายเทอากาศอย่างน้อย 2 จุด แต่การใส่ช่องเปิด ควรจะไม่ตรงกับผนังหลังเตาโดยตรง แต่ถ้าหากมีช่องเปิดน้อยกว่าที่กล่าวมา จะต้องติดตั้งระบบระบายอากาศ เช่น พัดลมดูดควัน และ พัดลมช่องระบายอากาศ ให้มีจำนวนที่เหมาะสมสัมพันธ์กับขนาดพื้นที่ครัว และรูปแบบการปรุงอาหาร

การจัดวางผังครัวฮวงจุ้ย แบบเกาะกลาง หรือ Fengshui Island Kitchen 

เป็นการจัดวางผังครัวที่เหมาะกับพื้นที่ 12 ตร.ม. ขึ้นไป  การจัดวางผังครัวฮวงจุ้ยในลักษณะนี้ถ้าหากจัดวางในพื้นที่แบบ Open Space จะมีความสวยงามโดดเด่นเป็นอย่างยิ่ง

การจัดวางผังห้องครัวฮวงจุ้ยแบบเกาะกลาง หรือ Fengshui Island Kitchen โดยตัวเกาะกลางจะต้องมีความสูงอย่างน้อย 90 ซม. และจะต้องมีพื้นที่ช่องว่างระหว่างเกาะกลาง และเคาน์เตอร์ติดผนังสำหรับใช้เป็นทางเดินกว้างตั้งแต่ 90 ซม. ขึ้นไป ซึ่งเป็นขนาดความกว้างที่สามารถเดิน หมุนตัว หรือ กลับตัวทั้งด้านหน้า และหลังในระหว่างปรุงอาหารได้อย่างสะดวก และไม่เป็นอันตราย

ในการออกแบบเกาะกลางนั้น สามารถทำได้ทั้งแบบถาวร และใส่ล้อสำหรับเคลื่อนย้ายได้ โดยรูปแบบของเกาะกลางนั้นจะออกแบบเป็นพื้นที่โล่งๆ ไม่แนะนำให้ส่วนของเกาะกลางมีเตาไฟอยู่ และฝั่งตรงข้ามเป็นก๊อกน้ำ เนื่องจากตามหลักฮวงจุ้ยธาตุน้ำจะปะทะกับธาตุไฟโดยตรง

การจัดวางผังครัวฮวงจุ้ยแบบเส้น 2 ด้าน หรือ Fengshui Gallery Kitchen

เป็นการจัดวางผังครัวที่เหมาะกับพื้นที่ขนาด  9 ตร.ม. ขึ้นไป

การจัดวางผังครัวฮวงจุ้ยในลักษณะนี้จะมีลักษณะคล้ายกับผังแบบ U หรือ Fengshui U-Shaped Kitchen เพียงแต่จะไม่มีเคาน์เตอร์ด้านสั้นมาเชื่อมให้เป็นตัว U เท่านั้น ซึ่งจะจัดวางพื้นที่สำหรับเก็บของ ทั้งของสดและของแห้ง (Zone 1) และพื้นที่สำหรับเตรียมของ เตาไฟ และปรุงอาหาร (Zone 3) ให้อยู่ให้อยู่ในฝั่งเดียวกัน  และจัดวางพื้นที่สำหรับล้าง อ่างล้างจานโดยเฉพาะก๊อกน้ำ (Zone 2) ให้อยู่ฝั่งตรงกันข้ามเข้ามุมชนกับผนัง โดยเฉพาะอ่างล้างจานต้องไม่ตรงข้ามกับ เตาไฟ และพื้นที่สำหรับเตรียมของ และปรุงอาหาร (Zone 3)  เพื่อหลีกเลี่ยงธาตุน้ำปะทะกับธาตุไฟโดยตรง โดยพื้นที่ตรงกลางจะมีความกว้างตั้งแต่ 90 ซม. ขึ้นไป ซึ่งเป็นความกว้างที่สามารถเดิน หมุนตัว หรือ กลับตัวทั้งด้านหน้า และหลังในระหว่างปรุงอาหารได้อย่างสะดวก และไม่เป็นอันตราย

ข้อควรระวัง : ตามหลักออกแบบครัวฮวงจุ้ย ควรจัดวางพื้นที่สำหรับล้างให้อยู่บริเวณด้านเดียวกับพื้นที่เตรียมอุปกรณ์และปรุงอาหาร เนื่องจากจะง่ายต่อการใช้สอยขณะเตรียมวัตถุดิบในการทำอาหาร

การจัดวางผังครัวฮวงจุ้ยแบบ G หรือ fengshui G-Shaped Kitchen (มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า Fengshui Peninsula Kitchen)

เป็นการจัดวางผังครัวฮวงจุ้ยที่เหมาะกับพื้นที่ 12 ตร.ม. ขึ้นไป ส่วนครัวในลักษณะนี้มักจะจัดวางในบริเวณกลางห้อง นอกจากพื้นที่ทำครัวปรุงอาหารแล้ว ยังสามารถประยุกต์ให้มีเคาน์เตอร์บาร์สำหรับนั่งรับประทานอาหารอยู่รอบๆได้ ซึ่งนั่งได้ตั้งแต่ 2 – 6 คน (ขึ้นอยู่กับขนาด)

การจัดวางผังครัวฮวงจุ้ย ในลักษณะนี้จะมีเคาน์เตอร์หลักอยู่ 3 ด้าน โดยจะจัดวางพื้นที่สำหรับเก็บของ ทั้งของสดและของแห้ง (Zone 1) และพื้นที่สำหรับเตรียมของ เตาไฟ สำหรับปรุงอาหาร (Zone 3) ให้อยู่ตรงข้ามกัน

แล้วจัดวางพื้นที่สำหรับล้าง ก็อกน้ำและทำความสะอาด (Zone 2) อยู่ในบริเวณเคาน์เตอร์ที่คอยเชื่อมระหว่างเคาน์เตอร์สำหรับเก็บของ ทั้งของสดและของแห้ง (Zone 1) และเคาน์เตอร์สำหรับเตรียมของ และปรุงอาหาร (Zone 3) ซึ่งการจัดวางฟังก์ชั่นการใช้สอยในลักษณะนี้จะทำให้การใช้งานมีความสะดวก ในการปรุงอาหาร สำหรับการติดตั้งหน้าต่าง สำหรับการระบายถ่ายเทอากาศอย่างน้อย 2 จุด  โดยพื้นที่หลังเตาควรออกแบบเป็นผนังทึบ หลีกเลี่ยงการเจาะช่องเปิดบริเวณนี้