Skip to content Skip to sidebar Skip to footer

สโลแกนสินค้า สโลแกนแบรนด์ ตั้งยังไงให้ติดหู ช่วยกระตุ้นยอดขาย

ลองเลือกอ่าน

สโลแกนสินค้า สโลแกนแบรนด์ ตั้งยังไงให้ติดหู ช่วยกระตุ้นยอดขาย

สโลแกนสินค้า คืออะไร ทำไมแบรนด์ถึงต้องมี

นักธุรกิจ และผู้ประกอบการหลาย ๆ ท่านอาจมีความสงสัยว่า “สโลแกนมีความจำเป็นมากแค่ไหน” แต่รู้หรือไม่ว่า สโลแกนดี ๆ เพียงแค่ประโยคสั้น ๆ ประโยคเดียวจะสามารถทำให้ธุรกิจของท่านนั้น เป็นที่รู้จัก ช่วยกระตุ้นยอดขาย ทั้งยังสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างกว้างขวาง

โดยการทำธุรกิจนอกจากการสร้างแบรนด์สินค้า ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของการออกแบบโลโก้ หรือตั้งชื่อแบรนด์แล้ว การคิดและสร้าง “สโลแกน” สินค้าให้โดนใจ ก็มีความสำคัญเช่นกัน ซึ่งสโลแกน คือ คำคม หรือข้อความสั้น ๆ สามารถจูงใจ และบ่งบอกถึงลักษณะเฉพาะตัวของสินค้า ไม่ว่าจะเป็น จุดเด่น ข้อมูล หรือคุณลักษณะต่าง ๆ เป็นเครื่องมือสำคัญที่ใช้ในการสื่อสารเรื่องราวของแบรนด์ไปสู่กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย และทำให้เกิดความรับรู้ นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงมุมมองและพฤติกรรมของผู้โภค ซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามช่วงเวลา และวัตถุประสงค์ที่ต้องการจะนำเสนอ เพื่อให้ลูกค้าสามารถจดจำตัวแบรนด์ได้ง่ายขึ้น

ความสำคัญของสโลแกน

  1. ช่วยให้ผู้บริโภคสามารถจดจำสินค้าได้ง่ายขึ้น
  2. ช่วยทำให้ผู้บริโภคเข้าใจจุดเด่นหรือจุดขายของสินค้าของท่านได้ทันที
  3. ช่วยให้การประชาสัมพันธ์ หรือโฆษณาสินค้า เป็นที่รู้จักได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ช่วยประหยัดงบประมาณในส่วนนี้ได้
  4. เมื่อมีคนรู้จักมากขึ้น ก็จะช่วยกระตุ้นยอดขายสินค้าให้เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย

ประโยชน์ของสโลแกน

  1. บ่งบอกความเป็นตัวตน และเสริมภาพลักษณ์ให้กับแบรนด์
  2. ทำให้แบรนด์เป็นที่จดจำได้ง่ายขึ้น
  3. สร้างแรงจูงใจให้อยากซื้อสินค้า
  4. สร้างการรับรู้ เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้รวดเร็ว
  5. จุดประกายความคิดในแง่ดี เสริมสร้างกำลังใจ

เทคนิคตั้งสโลแกนสินค้าให้ติดหู น่าจดจำ

โดยส่วนใหญ่แล้ว สโลแกนจะต้องสะท้อนถึงประโยชน์ของแบรนด์ หรือความคิดของแบรนด์ที่ต้องการจะสื่อสารออกไป สโลแกนสินค้าที่ดีต้องไม่ซับซ้อนจนเกินไป ใช้หลักการทางภาษา เช่น การเล่นคำ คำคล้องจองต่าง ๆ เพื่อเพิ่มสะดวกและง่ายในการจดจำ สามารถสร้างความโดดเด่น และเน้นความเอกลักษณ์ของแบรนด์ท่ามกลางคู่แข่งของท่านได้

1. ตั้งสโลแกนสินค้าให้สั้น กระชับ

ควรตั้งสโลแกนสินค้าให้มีความสั้น กระชับ เพื่อให้สามารถดึงดูดความสนใจของผู้บริโภคได้ในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งในกรณีที่สโลแกนเป็นประโยคที่ยาวเกินไป จะทำให้ผู้ฟังจดจำได้ยาก ในทางกลับกันถ้าทำให้ผู้ฟังสามารถจดจำสโลแกนของเราได้ ก็จะสามารถจดจำแบรนด์ของท่านได้เช่นกัน ตัวอย่างเช่น

  • แลคตาซอย 5 บาท
  • คิดจะพักคิดถึง คิทแคท
  • หิวเมื่อไหร่ก็แวะมา เซเว่นอีเลฟเว่น
  • มิสทีน มาแล้วค่ะ
  • การบินไทย รักคุณเท่าฟ้า

2. ใช้คำที่เข้าใจง่ายมาตั้งสโลแกน

เลือกคำที่เข้าใจง่าย หรือเป็นคำที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ไม่ควรนำภาษาวัยรุ่นหรือศัพท์สแลงมาใช้ เพราะเมื่อเวลาผ่านไปคำศัพท์วัยรุ่นมักเกิดใหม่อยู่เสมอ และในภายหลัง กลุ่มลูกค้าที่ไม่ทันในกระแสก่อนหน้านี้อาจไม่เข้าใจความหมายที่ต้องการสื่อในตัวสโลแกนได้ ทำให้สโลแกนต้องเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ตามเทรนด์ ซึ่งไม่ส่งผลดีต่อแบรนด์และการจดจำของลูกค้า ตัวอย่างศัพท์วัยรุ่น เช่น

  • ตัวตึง = ตัวท็อป
  • ตัวแม่ = มีความมั่นใจ เชิ่ด เก๋
  • บูด = ไม่เริ่ด, ไม่ถูกใจ, ไม่ดี
  • ความโป๊ะเป็นศูนย์ = ไม่มีที่ติ
  • ตุย = เหนื่อย, ตาย

3. สโลแกนสื่อสารออกมาในความหมายเชิงบวก

การตั้งสโลแกนสินค้าให้มีความหมายที่ดี หรือมีความหมายเชิงบวก ฟังแล้วเกิดความรู้สึกดีต่อแบรนด์ จะสามารถโน้มน้าวผู้ฟังให้รู้สึกสนใจ จะสามารถแสดงจุดยืน และภาพลักษณ์ที่ดีต่อลูกค้า

4. ตั้งสโลแกนให้แตกต่างไม่เหมือนใคร

การมีสโลแกนสินค้าเป็นของตัวเอง ทำให้ผู้บริโภคแยกออกได้ว่า แบรนด์ไหนเป็นแบรนด์ไหน แล้วเลือกตัดสินใจได้ง่ายขึ้นว่าจะซื้อแบรนด์ใด ทำให้ช่วยประหยัดในเรื่องของเวลาและค่าใช้จ่ายที่น้อยลงในการโฆษณา โดยถ้ามีการตั้งสโลแกนที่ซ้ำ หรือใกล้เคียงกับแบรนด์อื่น จะทำให้คนที่ได้ยินสับสน และทำให้ไม่สามารถแยกแยะได้ว่าสโลแกนนั้นเป็นของแบรนด์สินค้าใด ตัวอย่างสโลแกนที่ใกล้เคียงแบรนด์อื่น เช่น

  • คิดจะดื่มน้ำ ดื่มคริสตัล
  • คิดจะดื่มน้ำ ดื่มอควาเฟรช

5. ตั้งสโลแกนต้องคำนึงถึงสิ่งที่แบรนด์ต้องการสื่อ

ในการตั้งสโลแกนสินค้า สิ่งที่สำคัญที่สุดนั่นก็คือ เราต้องรู้ก่อนว่าเราขายสินค้า หรือให้บริการอะไรให้กับลูกค้า หรืออีกความความหมายหนึ่งนั่นก็คือในธุรกิจของท่านมีจุดขายในเรื่องใด และควรนำจุดนั้นมาสร้างภาพจำผ่านการตั้งสโลแกนของแบรนด์ ช่วยสร้างความน่าเชื่อถือ และสามารถดึงดูดให้ลูกค้าเข้ามาซื้อสินค้าหรือใช้บริการได้อย่างตรงจุด

5.1 ตั้งสโลแกนจากตัวสินค้า

เป็นวิธีที่สามารถสื่อสารกับลูกค้าได้ง่ายที่สุด เพราะเป็นการพูดถึงโดยตรงว่าต้องการนำเสนอสินค้าหรือบริการใด โดยมักจะมีชื่อของสินค้ามาผสมรวมในสโลแกน นอกจากนั้นยังสามารถนำจุดเด่นของสินค้า โลโก้แบรนด์ หรือนำวิธีใช้งานมาตั้งเป็นสโลแกนได้ เช่น

  • ซอลส์ เค็มแต่ดี
  • ดัชมิลล์ อร่อยดีมีประโยชน์
  • ยาดมตราโป๊ยเซียน ใช้ดม ใช้ทา ในหลอดเดียวกัน
  • มิรินด้า ซ่าสุดใจ
  • อายิโนโมโต๊ะ ผลิตจากวัตถุดิบหลักจากธรรมชาติ

5.2 ตั้งสโลแกนจากประสบการณ์ของแบรนด์

เชื่อมโยงเรื่องราวหรือประสบการณ์ของแบรนด์ให้เข้ากับสโลแกน ซึ่งสโลแกนประเภทนี้ จะสะท้อนตัวตนและความเป็นมาของแบรนด์ ทั้งยังสามารถเล่าเรื่องและส่งต่อเรื่องราวให้ลูกค้าได้รับรู้

  • Think different (คิดต่าง ไม่เหมือนใคร) – Apple
    โดยสโลแกนนี้ มีที่มาจากแนวคิดในการทำงาน และเป็นผลลัพธ์นวัตกรรมของ Apple ที่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับโลก จึงถือเป็นการนำประสบการณ์ของ Apple มาเขียนเป็นสโลแกนประจำแบรนด์นั่นเอง
  • Just Do It (จงออกไปทำซะ) – Nike
    Nike ได้เปิดตัวสโลแกนดังกล่าวในปี 1988 ด้วยโฆษณาของคุณลุงวัย 80 ปี ที่แสดงให้เห็นว่าอายุหรือสังขารไม่ใช่อุปสรรคในการทำบางสิ่งให้ถึงเป้าหมาย ทั้งยังเป็นภาพสะท้อนตัวตนของ Phil Knight (เจ้าของ Nike) ได้เป็นอย่างดีว่าถ้าหากวันนั้น เขาไม่เริ่มลงมือทำ ก็คงไม่มีแบรนด์ Nike ในวันนี้
  • นันยาง ทุกก้าวคือตำนาน
    นันยาง เป็นรองเท้าของประเทศไทยที่ผลิตมาแล้วกว่า 300 ล้านคู่ ตั้งแต่ พ.ศ. 2496 ถูกออกแบบอย่างเรียบง่ายและลงตัว เป็นที่นิยมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งระยะเวลาที่เปิดทำการนั้นสามารถการันตีถึงความสำเร็จของนันยางได้เป็นอย่างดี

5.3 ตั้งสโลแกนจากอารมณ์และความรู้สึก

เป็นการตั้งสโลแกน โดยการสร้างภาพจำให้แบรนด์ที่จะนำเสนอว่าอยากออกมาในลักษณะ ให้ดูน่าเชื่อถือโดยผ่านคำที่สื่อถึงอารมณ์ ความรู้สึก หรือความทรงจำ สร้างแรงบันดาลใจหรือกระตุ้นให้ความรู้สึกคล้อยตามไปกับแบรนด์ ซึ่งอาจจะเป็นคำสัญญา คุณสมบัติพิเศษ

  • It’s Finger Lickin’ Good (อร่อยจนต้องเลียนิ้ว) – KFC
  • ฟูจิ สั่งเลยอร่อยทุกอย่าง
  • การบินไทย รักคุณเท่าฟ้า
  • ธนาคารกสิกรไทย บริการทุกระดับประทับใจ
  • ห่านดินกินย่า ห่านฟ้ากินยุง

5.4 ตั้งสโลแกนจากวิสัยทัศน์ของแบรนด์

เป็นการตั้งสโลแกนโดยนำวิสัยทัศน์ หรือจุดมุ่งหมายในอนาคตของทางแบรนด์หรือบริษัทนั้นมาตั้งเป็นสโลแกน เช่น

  • คุ้มค่าทุกนาที ดูทีวีสีช่อง 3
    เป็นสโลแกนที่บอกว่าคนได้ชมนั้นจะคุ้มที่ได้ดูช่อง 3  สื่อให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ที่อยากจะทำรายการดี ๆ นำเสนอสิ่งที่ดีสู่สังคม
  • โตชิบ้า นำสิ่งที่ดีสู่ชีวิต
    ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าของโตชิบ้านั้นมีหลากหลาย จึงตั้งสโลแกนแบบโดยรวม ๆ ซึ่งหมายความว่า ทุกสินค้าที่โตชิบ้าผลิตมาจำหน่ายนั้น สามารถไว้ใจได้ เป็นการนำสิ่งที่ดีสู่ชีวิตให้แก่ผู้บริโภค
  • นมตราหมี เพื่อคนที่คุณรักและตัวคุณเอง
    โดยนมตราหมี (BEAR BRAND) เป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ของทางเนสท์เล่ ซึ่งทางแบรนด์ได้กล่าวว่า “คนในครอบครัวจะส่งต่อความรัก ความห่วงใยและการดูแลที่ดีที่สุดให้กันและกันเสมอ ไม่ว่าจะเป็นการแชร์ความทรงจำดี ๆ ร่วมกันทั้งสุขและทุกข์ รวมการส่งต่อเมนูความอร่อยประจำบ้านจากรุ่นสู่รุ่นเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ของคนในบ้าน” ซึ่งทางแบรนด์เชื่อว่าไม่ว่าเวลาจะผ่านไปเพียงใด ทุกความแตกต่างในการเติบโต เราสามารถส่งต่อสิ่งดี ๆ ให้กันและกันได้เสมอ

5.5 ตั้งสโลแกนที่สื่อถึงกลุ่มเป้าหมายชัดเจน

โดยการตั้งสโลแกนในรูปแบบนี้ จะทำให้ผู้คนจดจำได้ง่ายขึ้นว่าแบรนด์ของคุณนั้น เน้นขายสินค้าให้กับใคร เพศอะไร จึงสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างรวดเร็วและชัดเจน เช่น

  • คิดจะพัก คิดถึงคิทแคท
    ถึงแม้จะไม่ได้ระบุว่ากลุ่มเป้าหมายว่าเป็นเพศอะไร แต่ก็เจาะจงเป็นพิเศษว่า “ถ้าคุณเป็นคนที่คิดจะพัก” อยากจะพักผ่อน คิทแคท คือ ตัวช่วยคำตอบหนึ่งที่พึ่งได้
  • ลูกผู้ชายตัวจริง กระทิงแดง
    สโลแกนนี้สื่อถึงผู้ชายโดยตรง ซึ่งจูงใจให้เชื่อว่า “ถ้าเป็นลูกผู้ชายตัวจริง ก็ต้องดื่มกระทิงแดง” นั่นเอง
  • อาหารแมวคานิว่า ถูกใจคน รู้ใจแมว
    โดยการตั้งสโลแกนที่เจาะจงกลุ่มเป้าหมายก็ไม่จำเป็นต้องเป็นแค่มนุษย์เท่านั้น แต่สามารถเจาะจงเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงก็ได้เช่นกัน สโลแกนนี้เจาะจงไปถึงคนที่เลี้ยงแมว รวมไปถึงแมวที่เป็นสัตว์เลี้ยง โดยจูงใจว่าแบรนด์นี้จะโดนใจทั้งคนเลี้ยง และถูกใจแมว

6. คำแนะนำในการตั้งสโลแกน

โดยคำแนะนำในส่วนนี้ อาจจะมีหรือไม่มีก็ได้ ขึ้นอยู่กับแบรนด์ว่าต้องการสื่อสารหรือสะดวกในรูปแบบใดไปถึงกลุ่มเป้าหมาย ดังนี้

6.1 ตั้งสโลแกนร่วมกับจังหวะดนตรี

การตั้งสโลแกน ร่วมกับจังหวะเพลงหรือเสียงดนตรี เพื่อทำให้ร้องตามหรือพูดตามได้ง่าย จะทำให้ผู้ฟังนั้นจดจำได้ง่ายขึ้น เร็วขึ้น ตัวอย่างเช่น

  • หิวเมื่อไหร่ก็แวะมา 7-11
  • อร่อยทุกที่ ทุกเวลา – ยูโร่ เค้ก
  • Mamy Poko แห้งสบายไม่ซึมเปื้อน
  • ปูไทย อร่อยถึงใจเด็กไทยทุกคน

6.2 การใส่ชื่อ/ไม่ใส่ชื่อแบรนด์ ในการตั้งสโลแกน

ในการของการใส่ชื่อแบรนด์ลงในสโลแกนนั้น จะใส่หรือไม่ใส่ขึ้นอยู่กับการตั้งสโลแกนว่าท่านตั้งมาจากอะไร เช่น ถ้าอยากตั้งสโลแกนโดยอยากชูจุดเด่นจากสินค้า ในกรณีนี้ก็ควรใส่ชื่อแบรนด์ลงไปในสโลแกนด้วย เป็นต้น ซึ่งการเพิ่มชื่อแบรนด์ลงไปในสโลแกนจะช่วยให้แบรนด์จดจำได้ง่ายยิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่น

  • อะไรก็เกิดขึ้นได้ถ้ามี ปาปริก้า
  • เบอร์ดี้ หนึ่งในใจคุณ
  • คิดจะดื่มน้ำ ดื่มคริสตัล
  • รักน้ำ รักปลา รักซากุระ

และในกรณีที่ไม่ได้ใส่ชื่อแบรนด์ในสโลแกนก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิดเช่นกัน โดยอาจเป็นการตั้งจากประสบการณ์ที่ผ่านมาของแบรนด์ หรือเป็นสโลแกนที่ต้องการสร้างภาพจำกับกลุ่มเป้าหมาย เช่น

  • It’s Finger Lickin’ Good (อร่อยจนต้องเลียนิ้ว) – KFC
  • Think different (คิดต่าง ไม่เหมือนใคร) – Apple
  • Just Do It (จงออกไปทำซะ) – Nike
  • Because You’re Worth It (คุณค่าที่คุณคู่ควร) – We’re All Worth It! (คุณค่าที่เราทุกคนคู่ควร) – L’Oréal
  • I’m Lovin It (ฉันกำลังรักมันอยู่) – McDonald’s

6.3 ตั้งสโลแกนแบบสัมผัสคล้องจอง

การตั้งสโลแกน โดยมีสัมผัสคำคล้องจองหรือความหมายไปในทางเดียวกัน จะทำให้เวลาอ่านแล้วลื่นไหลไปได้ด้วยดี การเลือกนำคำมาใช้สร้างสโลแกนจึงมีความสำคัญ ทั้งยังสามารถพูดได้ติดปากง่ายขึ้นด้วย เช่น

  • คิดจะพัก คิดถึงคิทแคท
  • เขาช่อง รสแท้กาแฟไทย
  • เป๊บซี่ เต็มที่กับชีวิต
  • ทุกหยดซ่า โซดาสิงห์
  • มิรินด้า ซ่าสุดใจ
  • M150 ไม่มีลิมิต ชีวิตเกิน 100

สโลแกน เป็นสิ่งที่สามารถสื่อถึงลักษณะเฉพาะตัวของสินค้า ไม่ว่าจะเป็น จุดเด่น ข้อมูล หรือคุณลักษณะต่าง ๆ เป็นเครื่องมือสำคัญที่ใช้ในการสื่อสารเรื่องราวของแบรนด์ไปสู่กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ซึ่งถ้าได้ตั้งสโลแกนตามลักษณะที่กล่าวไปข้างต้น รวมไปกับชื่อแบรนด์ที่ติดหู และโลโก้แบรนด์ที่สะดุดตา ก็จะเป็นที่จดจำได้ง่าย

ซึ่งเมื่อผู้บริโภครู้จักแบรนด์สินค้าแล้ว สิ่งสำคัญที่จะทำให้พวกเขาจดจำ และรู้สึกดีต่อแบรนด์ได้มากขึ้นก็คือ การที่พวกเขาได้รับประสบการณ์ที่ดีในการใช้สินค้าและบริการของแบรนด์ หรือในอีกความหมายหนึ่งก็คือ สินค้าและบริการของก็จะต้องดีมีคุณภาพ ตรงตามสโลแกนของแบรนด์ด้วย ซึ่งทั้งสโลแกน ชื่อแบรนด์ และโลโก้ รวมไปถึงคุณภาพของสินค้าและบริการ ก็ต้องมีทั้งสองส่วนควบคู่กันไป

✦ ถ้าท่านต้องการสโลแกนสินค้า สโลแกนแบรนด์ ที่ใครได้ยินก็ติดหู ✦ สามารถติดต่อสอบถามกับทาง อ.ชัญ ได้ที่ Line: @theluckyname โดย อ.ชัญ จะตั้งสโลแกน ที่สื่อถึงลักษณะเฉพาะตัวของสินค้า ไม่ว่าจะเป็น จุดเด่น ข้อมูล หรือคุณลักษณะต่าง ๆ หรือตามที่ลูกค้าต้องการ เพื่อให้สโลแกนของท่านสื่อถึงธุรกิจและเป็นที่น่าจดจำ