Skip to content Skip to sidebar Skip to footer

การเลือกใช้สีจากทฤษฎีของสี วงจรสี ในการออกแบบโลโก้และบรรจุภัณฑ์

ลองเลือกอ่าน

การเลือกใช้สีจากทฤษฎีของสี วงจรสีในการออกแบบโลโก้และบรรจุภัณฑ์

สีเป็นปรากฏการณ์ทางการมองเห็น โดยเกิดจากแสงที่ไปกระทบมวลวัตถุ แล้วสะท้อนเข้าสู่ดวงตา จากนั้นสมองจะแปลงสภาพการรับรู้ ทำให้เกิดความเข้าใจและเป็นสื่อเร้าตามประสบการณ์ที่มี หรือการเรียนรู้ของมนุษย์คน ๆ นั้น นอกจากนี้สีแต่ละสียังมีอิทธิพลในทางจิตวิทยา เป็นสื่อเร้าให้เกิดความรู้สึกทางด้านอารมณ์ของมนุษย์

ในโลกที่เต็มไปด้วยสีสันและความหลากหลาย การเข้าใจในเรื่องของทฤษฎีของสีและวงจรสี เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้เราเข้าใจถึงความสำคัญของสีในการออกแบบงานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบโลโก้ หรือการออกแบบบรรจุภัณฑ์ตลอดจนการสร้างผลงานศิลป์ในหลาย ๆ รูปแบบ ซึ่งสีนั้นมีหลายประเภท และทุกสีมีความหมายเฉพาะตัวของมัน ทำให้การเลือกใช้สีในงานออกแบบ ควรมีการทำความเข้าใจเกี่ยวกับการเลือกใช้สีในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้เหมาะสมกับงานที่ท่านต้องการออกแบบมากที่สุด

ทฤษฎีของสี – จุดกำเนิดของวงจรสี

ทฤษฎีสี (Theory of Color) หมายถึง ทฤษฎีของแม่สีที่เป็นต้นกำเนิดของการผสมสีเพื่อให้เกิดเป็นสีต่าง ๆ เพื่อนำไปใช้ในการสร้างงานศิลปะ หรืองานออกแบบแขนงต่าง ๆ โดยสีตั้งต้นจะเรียกว่า แม่สี ซึ่งจะประกอบด้วย 3 สี คือ สีแดง (Red, R), สีเหลือง (Yellow, Y) และสีน้ำเงิน (Blue, B) ซึ่งทั้ง 3 สีนี้ คือสีที่ไม่สามารถผสมสีใด ๆ เข้าด้วยกันเพื่อให้ได้สีเหล่านี้ และเมื่อนำแต่ละสีมาผสมกันก็ทำให้เกิดสีใหม่ขึ้นมา และสามารถแบ่งได้เป็น 3 ลำดับ ดังนี้

แม่สีขั้นแรก (Primary Colors)

เป็นสีที่ไม่สามารถผสมด้วยสีใด ๆ ได้ หรือเรียกว่า แม่สี มีทั้งหมด 3 สี ได้แก่

  • สีแดง Red
  • สีเหลือง Yellow
  • สีน้ำเงิน Blue

แม่สีขั้นที่สอง (Secondary Colors)

คือ สีที่เกิดจากการผสมกันของแม่สีขั้นแรก จะได้สีเพิ่มขึ้นอีก 3 สี ได้แก่

  • สีส้ม Orange (สีแดง + สีเหลือง)
  • สีม่วง Violet (สีแดง + สีน้ำเงิน)
  • สีเขียว Green (สีน้ำเงิน + สีเหลือง)

แม่สีขั้นที่สาม (Tertiary Colors)

คือ สีที่เกิดจากการผสมกันของสีขั้นแรกและสีขั้นที่สอง จะได้เพิ่มขึ้นอีก 6 สี ได้แก่

  • ส้มเหลือง Yellow-Orange (สีส้ม + สีเหลือง)
  • ส้มแดง Red-Orange (สีส้ม + สีแดง)
  • ม่วงแดง Red-Violet (สีม่วง + สีแดง)
  • ม่วงน้ำเงิน Blue-Violet (สีม่วง + สีน้ำเงิน)
  • เขียวเหลือง Yellow-Green (สีเขียว + สีเหลือง)
  • เขียวน้ำเงิน Blue-Green (สีเขียว + สีน้ำเงิน)

วงจรสี

เมื่อนำสีของทั้ง 3 ขั้นมารวมกัน จะประกอบไปด้วย 12 สี หรือที่เรียกว่า วงจรสี นั่นเอง

วรรณะของสี (Tone of color)

จากวงจรสีที่กล่าวไปข้างต้น ทั้ง 12 สีนั้น สามารถแบ่งออกเป็นสองกลุ่มที่แสดงถึงความรู้สึกที่แตกต่างกัน หรือที่เรียกว่าวรรณะของสี (Tone of color) โดยแบ่งเป็นวรรณะร้อนและวรรณะเย็น ดังนี้

สีวรรณะร้อน หรือโทนร้อน (Warm colors)

สีวรรณะร้อน จะให้ความรู้สึกตื่นตา มีพลัง อบอุ่น สนุกสนาน และดึงดูดความสนใจได้ดี โดยมีสีดังนี้

  • สีส้มเหลือง
  • สีส้ม
  • สีส้มแดง
  • สีแดง
  • สีม่วงแดง
  • สีเหลืองและสีม่วง เป็นสีที่สามารถอยู่ได้ทั้งสีโทนร้อนและสีโทนเย็น

สีวรรณะเย็น หรือโทนเย็น (Cool colors)

สีวรรณะเย็น ให้ความรู้สึกสุภาพ สงบ น่าเชื่อถือ ลึกลับ เยือกเย็น โดยมีสีดังนี้

  • สีเขียวเหลือง
  • สีเขียว
  • สีเขียวน้ำเงิน
  • สีน้ำเงิน
  • สีม่วงน้ำเงิน
  • สีเหลืองและสีม่วง เป็นสีที่สามารถอยู่ได้ทั้งสีโทนร้อนและสีโทนเย็น

สีที่เป็นกลาง (Neutral Colors)

สีที่เป็นกลาง คือสีที่ให้ความรู้สึกที่อบอุ่นและเรียบง่าย สบายตา ซึ่งสีเหล่านี้สามารถช่วยลดความร้อนแรงของสีอื่น ทำให้สีสันดูสมดุล กลมกลืนมากขึ้น โดยมีสีดังนี้

  • สีดำ
  • สีขาว
  • สีเทา
  • สีน้ำตาล 

สีเข้ม สีอ่อน และโทนสี (Shade Tint Tone)

การนำสีต่าง ๆ มาผสมกับสีดำ สีขาว และสีเทา จะทำให้เกิดรูปแบบของสีอีก 3 แบบ ดังนี้

Shade (การผสมสีดำลงในสี)

สีเข้ม หรือเฉดสี เป็นการนำสีดำมาผสมกับสี ทำให้สีนั้นทึบลง เพื่อให้ดูเข้มขึ้น และมืดขึ้น

Tint (การผสมสีขาวลงในสี)

สีอ่อน หรือทินต์สี คือ การเติมสีขาวลงไปในสี ทำให้สีมีความอ่อนลงและสว่างมากยิ่งขึ้น โดยที่ยังคงเนื้อสีเดิมไว้

Tone (การผสมสีเทาลงในสี)

โทนสี คือ การเติมสีเทาลงไปในสี ทำให้สีที่ได้จะมีความหม่นลง ทำให้สีนั้นมีความนุ่มนวลมากขึ้น มีความหมายเหมือนกับการลด Saturation (ค่าความอิ่มตัวของสี)

การเลือกใช้สีในการออกแบบ (Color combination)

ในการเลือกใช้สีในการออกแบบงานต่าง ๆ สีที่เลือกใช้ควรจะประสานกันได้ดี เพื่อให้ผู้พบเห็นโดยทั่วไปไม่รู้สึกขัดสายตาและความคิด แต่การที่จะสามารถเลือกสีต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพได้นั้น ต้องมีการพิจารณาหลักการเลือกใช้สีในการออกแบบ ร่วมกับอาศัยประสบการณ์ ความเข้าใจรสนิยมของกลุ่มเป้าหมาย และคำนึงถึงความเหมาะสม ซึ่งรูปแบบในการเลือกใช้สี มีดังนี้

1. สีเอกรงค์ (Monochromatic colors)

หมายถึง การใช้สี สีเดียว หรือการใช้สีที่แสดงความเด่นชัดออกมาเพียงสีเดียว โดยการใช้สีในรูปแบบนี้ จะใช้จุดยืนเป็นสีใดสีหนึ่งที่เป็นสีแท้ (Hue) เพียงสีเดียว ส่วนประกอบอื่น ๆ นั้นจะใช้สีเดียวกัน แต่มีการลดหลั่นกันในเรื่องน้ำหนักสี ด้วยการปรับ Shade Tint หรือ Tones เพื่อให้เกิดความแตกต่าง

2. สีข้างเคียง (Analogous colors)

เป็นการใช้สามสีที่อยู่เคียงข้างกันในวงล้อสี โดยอาจเป็นการเลือกใช้สีหลัก 1 สี แล้วใช้อีก 2 สีเพื่อทำให้ดูกลมกลืน เช่น สีส้มเหลือง สีส้ม และสีส้มแดง โดยทั้งสามสีมีสีหนึ่งที่ร่วมกันอยู่ คือสีส้ม ทำให้เมื่อนำมาใช้ร่วมกันแล้ว ดูเรียบง่าย และเข้ากันได้อย่างดี

3. การใช้สีวรรณะเดียว

จากที่กล่าวไว้ข้างต้น วงล้อสีทั้ง 12 สี สามารถแบ่งได้ 2 วรรณะ คือ วรรณะร้อนและวรรณะเย็น การใช้สีวรรณะเดียวในงานออกแบบ จะทำให้มีความรู้สึกไปในทิศทางเดียวกัน กลมกลืนกัน และมีอิทธิพลที่ต้องการสื่อสารได้อย่างชัดเจน อย่างการใช้สีวรรณะร้อน จะให้ความรู้สึกที่ตื่นเต้น เร้าใจ กระฉับกระเฉง และสีวรรณะเย็น จะให้ความรู้สึกสงบ สุขุม สดชื่น

4. การใช้สีต่างวรรณะ

จากที่กล่าวไว้ข้างต้น วงล้อสีทั้ง 12 สี สามารถแบ่งได้ 2 วรรณะ คือ วรรณะร้อนและวรรณะเย็น การใช้สีวรรณะเดียวในงานออกแบบ จะทำให้มีความรู้สึกไปในทิศทางเดียวกัน กลมกลืนกัน และมีอิทธิพลที่ต้องการสื่อสารได้อย่างชัดเจน อย่างการใช้สีวรรณะร้อน จะให้ความรู้สึกที่ตื่นเต้น เร้าใจ กระฉับกระเฉง และสีวรรณะเย็น จะให้ความรู้สึกสงบ สุขุม สดชื่น

5. สีคู่ตรงข้าม (Complementary colors)

คือ การใช้สีที่อยู่ตรงข้ามกันในวงล้อสี จะทำให้เกิดการตัดกันของสีอย่างรุนแรง ทำให้เกิดความขัดแย้ง ทำให้งานโดดขึ้นอย่างเห็นได้ชัด การใช้สีคู่ตรงข้ามจึงควรใช้ในอัตราส่วน 80:20 หรือหากมีความจำเป็นที่ต้องใช้สัดส่วนสีที่เท่ากัน อาจใช้สีขาว หรือสีดำเข้ามาช่วย ทำให้งานมีมิติและสมดุลมากยิ่งขึ้น

สีคู่ตรงข้ามในวงล้อสีมีทั้งหมด 6 คู่ ดังนี้

  • สีหลือง – สีม่วง
  • สีแดง – สีเขียว
  • สีม่วง – สีส้ม
  • สีเขียวเหลือง – สีม่วงแดง
  • สีส้มเหลือง – สีม่วงน้ำเงิน
  • สีส้มแดง – สีเขียวน้ำเงิน

6. สีตรงข้ามข้างเคียง (Split Complementary colors)

คือ การเลือกใช้สีที่ไม่ใช่สีคู่ตรงข้ามโดยตรง แต่ใช้สีที่อยู่ใกล้เคียงกับสีคู่ตรงข้ามแทน ซึ่งเป็นสีที่อยู่ใกล้กันจากวงล้อสี รวมแล้วเป็น 3 สี ทำให้สีไม่ตัดกันจนเกินไป และยังสร้างความโดดเด่นให้กับงานได้ เช่น ออกแบบโลโก้โดยเลือกใช้สีเหลืองเป็นหลัก ซึ่งเป็นสีคู่ตรงข้ามกับสีม่วง แต่เลือกใช้สีม่วงน้ำเงิน หรือสีม่วงแดงมาใช้คู่กับสีเหลือง เพื่อให้ดูแตกต่างกันแทนสีม่วง

7. สีตรงข้ามข้างเคียงทั้ง 2 ด้าน (Tetradic / Rectangular colors)

โดยเป็นสีใกล้เคียงทั้งสองด้านของสีคู่ตรงข้าม ทำให้เกิดชุดสีที่มี 4 สี โดยสามารถใช้สี่เหลี่ยมผืนผ้าทาบลงบนวงล้อสีเพื่อให้เข้าใจได้ง่ายมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น สีตรงข้ามของสีแดง คือสีเขียว แต่เราจะเลือกใช้สีใกล้เคียงของสีแดงและสีเขียวแทน นั่นก็คือ สีม่วงแดง สีส้มแดง สีเขียวฟ้า และสีเขียวเหลือง

8. สีสามเส้า / สีสามเหลี่ยม (Triadic colors)

หมายถึง สีที่อยู่ในรูปแบบของสามเหลี่ยมในวงล้อสี โดยสีทั้ง 3 สีจะอยู่ห่างในระยะที่เท่า ๆ กัน อย่างไรก็ตามควรเลือกให้สีใดสีหนึ่งเป็นสีที่โดดเด่น และให้พื้นที่อีกสองสีน้อยกว่า ทำให้ดูองค์รวมแล้วสบายตา นักออกแบบส่วนใหญ่กล่าวว่าการใช้สีในรูปแบบนี้เป็นการเลือกใช้ชุดสีที่ดีที่สุด แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าลักษณะการใช้งาน งานที่ออกแบบ และอยากสื่ออารมณ์ไปในทิศทางใด

9. การใช้สีสี่ตรงข้าม / สีสี่เหลี่ยม (Square colors)

เป็นการใช้สีคู่ตรงข้ามโดยตรงถึง 2 คู่ หรือก็คือการใช้สีตรงข้ามทั้งสี่ด้านของวงล้อสี ทำให้เกิดชุดสีทั้งหมด 4 สี สามารถใช้สี่เหลี่ยมด้านเท่ามาทาบลงบนวงล้อสีได้ โดยชุดสีนี้สามารถใช้ได้ แต่ได้รับความนิยมน้อย เนื่องจากมีสีหลักมากเกินไป แต่ถ้าใช้ในอัตราส่วนที่พอเหมาะก็ทำให้งานออกมาโดดเด่นได้

การนำสีมาใช้ในการออกแบบร่วมกับหลักฮวงจุ้ย

การเลือกใช้สีในการออกแบบโลโก้ หรือบรรจุภัณฑ์ ควรคำนึงถึงความเหมาะสมกับสิ่งที่ออกแบบ และภาพลักษณ์ของแบรนด์ เพื่อให้เกิดความสอดคล้องกัน หากต้องการใช้สีมากกว่าหนึ่งสี ก็ควรเลือกคู่สีที่มีความลงตัว หรือเลือกใช้ตามหลักการจับคู่สีที่กล่าวไปข้างต้น เพื่อให้เกิดความน่าสนใจ และน่าดึงดูด

นอกจากนี้การเลือกใช้สีที่เสริมธาตุตามหลักฮวงจุ้ยจีน ซึ่งจำเป็นต้องพิจารณาจากวันเดือนปีเกิดเจ้าของกิจการ และหุ้นส่วนประกอบ ซึ่งแบ่งเป็น 5 ธาตุได้แก่ ดิน น้ำ ไม้ ทอง ไฟ จะช่วยส่งเสริมธุรกิจ และเพิ่มความเป็นสิริมงคลให้เจริญรุ่งเรือง

จะเห็นได้ว่าในการออกแบบโลโก้ ออกแบบบรรจุภัณฑ์ ที่เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างแบรนด์สินค้าให้ได้รับความนิยม เป็นที่รู้จัก และจดจำแบรนด์ของเราได้นั้น มีความสำคัญในทุก ๆ ขั้นตอน ตั้งแต่ แนวคิด (Concept) รูปร่างรูปทรง หรือแม้กระทั่งการเลือกใช้สี ดังนั้นควรให้ความสำคัญตั้งแต่เริ่มต้น โดยเฉพาะการเลือกใช้ชื่อแบรนด์ ออกแบบโลโก้และบรรจุภัณฑ์ ที่สามารถทำให้ลูกค้าจดจำแบรนด์ได้ง่ายที่สุด ฉะนั้น ทั้งสามอย่างที่กล่าวถึง ควรมีการออกแบบให้สอดคล้องกับแบรนด์และกลุ่มเป้าหมาย มีความสิริมงคลตามหลักฮวงจุ้ย รวมไปถึงความชัดเจน ทั้งในเรื่องความหมาย เอกลักษณ์ และจุดเด่น

✦ ถ้าท่านกำลังมองหาชื่อแบรนด์มงคล โลโก้แบรนด์ หรือบรรจุภัณฑ์ 

สามารถติดต่อสอบถามกับทาง อ.ชัญ ได้ที่ Line: @theluckyname โดย อ.ชัญ จะตั้งชื่อแบรนด์ผ่านการวิเคราะห์หลักเลขศาสตร์ ซึ่งจะได้ชื่อแบรนด์ที่เป็นมงคล ไม่ซ้ำใคร ในส่วนของโลโก้และบรรจุภัณฑ์ (Packaging) จะเลือกใช้สีที่เสริมธาตุตามหลักฮวงจุ้ยจีน โดยพิจารณาจากวันเดือนปีเกิด เจ้าของกิจการ และหุ้นส่วนประกอบ เพื่อเสริมความเป็นมงคลให้กับทางแบรนด์ และเสริมภาพลักษณ์ของแบรนด์ให้ด้วยค่ะ